การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศหญิง และเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถตรวจคลำได้ด้วยมือจากภายนอก ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ กล่าวคือหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 สูงถึง 98% และ 88% ตามลำดับ ตามแนวทางของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง  ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย

ขั้นตอนในการตรวจ

1. ดูหน้ากระจก เพื่อดูว่าเต้านมสองข้างเท่ากันหรือไม่ หัวนมอยู่ในระนาบเดียวกันไหม ผิวเต้านมมีรอยบุ๋มหรือมีแผลอะไรผิดปกติหรือไม่ หัวนมบุ๋มลงไปผิดปกติหรือไม่

2. คลำ ขั้นตอนนี้ควรทำในท่านอน โดยเอาแขนด้านที่จะตรวจรองไว้ใต้ศีรษะ และเอาผ้าเล็กๆมารองบริเวณไหล่เพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้คลำเต้านมให้ทั่วๆ โดยอาจคลำวนเป็นก้นหอย หรือคลำเป็นส่วนๆของเต้านมก็ได้แล้วแต่ความถนัด โดยหลักใหญ่คือการคลำให้ทั่วเต้านม ถ้าสัมผัสพบก้อนสะดุดมือผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยัน

3.สุดท้ายให้บีบหัวนมดูว่ามีของเหลว เลือด ผิดปกติไหลออกมาหรือไม่ ถ้ามีให้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

การตรวจเต้านมโดยแพทย์  แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรืออายุ 30 ปีขึ้นไปควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมโดยแพทย์ประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจด้วยตนเองไม่ได้พลาดความผิดปกติอะไรไป นอกจากนั้นเมื่อคุณตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ คุณต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป

การถ่ายภาพเอ็กเรย์เต้านม (Mammography) เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆ ได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ

หมายเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วขึ้น คือควรตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งลบด้วย 5-10 ปี

โดยเมื่อตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (core needle biopsy) หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration) เพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของมะเร็งเต้านมชนิดของมะเร็งเต้านม

สามารถแบ่งมะเร็งเต้านมได้โดยใช้หลายเกณฑ์ เช่น ตามลักษณะทางพยาธิวิทยา หรือตามการแสดงออกของตัวรับที่ผิวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้ยารักษาที่แตกต่างกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งชนิดตามเกณฑ์ของตัวรับที่ผิวเซลล์เป็นหลัก

  • ชนิดที่มีการสร้างตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ การตรวจพบตัวรับชนิดนี้ ทำให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้
  • ชนิดที่มีการสร้างตัวรับเฮอร์ทู (HER-2) สัมพันธ์กับมะเร็งที่ลุกลามไว การรักษาด้วยยามุ่งเป้าชนิดต้าน HER-2 สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
  • ชนิดที่ไม่มีการสร้างตัวรับใดๆ การรักษาหลักยังเป็นการใช้ยาเคมีบำบัด

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม

การวินิจฉัยเบื้องต้น : การตรวจทางรังสีวิทยาและการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ
เมื่อตรวจพบก้อนที่เต้านม คุณต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านมอย่างละเอียด รวมไปถึงการคลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ นอกจากนั้น คุณยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม การตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงและแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ใช้เป็นประจำ การทำคลื่นเสียงนั้นไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นาน วิธีนี้ใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนังเข้าไปและทำให้มีภาพข้างใต้ปรากฏขึ้นมา วิธีนี้ใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเต้านมยังมีความหนาแน่นสูงทำให้การทำแมมโมแกรมไม่ชัดเจน

นอกจากนั้น ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบนั้นมีนํ้าอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีถุงนํ้าเรียกว่า cyst ส่วนแมมโมแกรมเป็นวิธีหนึ่งของเอกซเรย์เต้านม โดยมากใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป วิธีนี้มีประโยชน์มากสำหรับการวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มแรกที่อาจจะยังไม่สามารถคลำก้อนได้ วิธีนี้อาจเจ็บบ้างเนื่องจากเต้านมต้องถูกหนีบไว้ระหว่างแผ่นเหล็ก รองสองแผ่น และใช้วิธีการบีบเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเจ็บแบบแน่นๆ พอสมควร และไม่มีอันตรายต่อเต้านมจากนั้นถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยชิ้นเนื้อที่นำออกมานั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการพยาธิวินิจฉัย เพื่อดูว่ามีมะเร็งหรือไม่มีวิธีหลายวิธี ในการนำชิ้นเนื้อไปตรวจ ตั้งแต่การเจาะดูดโดยเข็ม (fine needle aspiration) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน (coreneedle biopsy) และตัดทั้งก้อนไปตรวจ (excisional biopsy)

การเจาะดูดโดยเข็ม :วิธีนี้แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆเจาะเข้าไปในก้อนและดูดเซลล์มาตรวจ ถ้าก้อนนั้นมีนํ้าก็จะสามารถดูดนํ้าออกมาได้ด้วย

การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน : เข็มที่ใช้เจาะจะใหญ่กว่าวิธีแรก และแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อให้ชาก่อนทำ วิธีนี้จะได้ชิ้นเนื้อออกมาในปริมาณพอสมควร วิธีนี้ดีตรงที่แพทย์พยาธิวินิจฉัย นอกจากจะดูว่าเซลล์ผิดปกติเป็นมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถดูว่ามะเร็งลุกลามออกมายังเนื้อเยื่อข้างๆด้วยหรือไม่ ทำให้บอกได้ว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นแบบเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม (in situ) หรือลุกลามออกมาแล้ว (invasive carcinoma)

การตัดทั้งก้อนไปตรวจ : เป็นการผ่าตัดเล็ก นำก้อนทั้งก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยา

หลักการรักษามะเร็งเต้านม

การรักษาเฉพาะที่ (local treatment)

ได้แก่ การผ่าตัดและการฉายรังสีเพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านมและรักแร้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกคือ มะเร็งเต้านมจะหายได้นั้น จะต้องสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายได้จนหมด

การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) ได้แก่ เคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจมีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาที่ ออกฤทธิ์ฆ่าทำลายเซลล์มะเร็งได้ทั่วทั้งร่างกาย

การรักษาแบบ systemic นี้มีได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ โดยหลักการคือเมื่อยาเข้าไปในร่างกายจะสามารถไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ว่าเซลล์นั้นจะอยู่ที่อวัยวะใด การรักษาแบบ systemic นี้ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังต่อไปนี้

ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
ยาต้านฮอร์โมน (antihormonal agents)
การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (targeted therapy
ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด (immunotherapy)

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  codecraftersinc.com