ร็อตไวเลอร์ เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่น่าเกรงขาม อาจทำให้คนทั่วไปคิดว่าร็อตไวเลอร์เป็นสุนัขดุร้าย แต่ในความเป็นจริงนั้น พวกเค้าเป็นเพียงหมาใหญ่ใจดี เริ่มแรกสุนัขร็อตไวเลอร์ถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อต้อนฝูงสัตว์และใช้ลากเกวียนขนาดเล็ก มีขนสองชั้น มีหางสั้น จมูกยาวปานกลาง และมีใบหูสั้นห้อยลงมา หากสังเกตให้ดีจะพบว่าร็อตไวเลอร์มีดวงตาสีน้ำตาลและมีจมูกสีดำ มีขาหลังที่แข็งแรงมาก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความแข็งแกร่งและการทำงานอย่างหนักของบรรพบุรุษ

นิสัยของสุนัขร็อตไวเลอร์ มีความอ่อนโยนซึ่งขัดกับรูปลักษณ์ที่ดุดัน เป็นเพื่อนสี่ขาที่ดี ซื่อสัตย์ เชื่อฟัง ไม่ซุกซน และไม่เห่าพร่ำเพรื่อ อีกทั้งยังเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาด จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขเพื่อการใช้งาน จึงมีความขยันขันแข็ง หากได้รับการฝึกอย่างเหมาะสมตั้งแต่เด็ก พวกเค้าจะสามารถปรับตัวเข้ากับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นได้ดี

ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์เป็นสุนัขที่เชื่อฟังมาก และสามารถฝึกได้ง่าย มีความใจเย็น เชื่อมั่นในตัวเอง มีความซื่อสัตว์ต่อเจ้าของ รัก และยอมเสี่ยงตัวเองเพื่อปกป้องเจ้าของ จัดเป็นสุนัขคู่หูที่ดีพันธุ์หนึ่ง แต่ก็มีความสามารถในการทำลายสูงมากเช่นกัน ซึ่งเจ้าของควรแสดงความรัก ความเอาใจใส่ กอดสุนัข หรือนอนกับสุนัข เป็นต้น หากเจ้าของสุนัขปล่อยปะละเลย สุนัขจะกลายเป็นสุนัขเห่าที่น่ารำคาญ หรือการขุดพื้นเท่าขนาดตัวสุนัข
ความแตกต่างของสุนัขเพศผู้และเพศเมีย คือสุนัขเพศผู้จะเงียบ และนิ่งกว่าสุนัขเพศเมีย ซึ่งสุนัขเพศเมียจะต้องการความรักมากกว่าสุนัขเพศผู้
สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ เป็นสุนัขที่สามารถเข้ากับเด็กได้ดีเยี่ยม เหมาะสมกับทุกช่วงอายุ อย่างไรก็ตามสุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่แข็งแรง ตัวใหญ่ เนื่องจากพื้นฐานเป็นสุนัขที่ถูกใช้งาน ควรคอยสังเกต และระมัดระวังเด็กเล็กได้รับอันตรายขณะเล่นกับสุนัข ซึ่งตั้งแต่เด็กโตขึ้นไปจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้


ลักษณะเพิ่มเติมของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์
สุนัขร็อตไวเลอร์มีร่างกายกำยำ แข็งแรง กล้ามเนื้อแน่น ในช่วงแรกเกิด พวกเค้ามีหางยาวและโค้งงอ แต่หางจะมีขนาดสั้นลงเมื่อโตขึ้น หัวยาวปานกลาง หากมองด้านข้าง หน้าผากจะโค้งเล็กน้อย จมูกใหญ่สีดำ ปากห้อยย้อยมีความยาวพอดีกับขนาดหัว ริมฝีปากชุ่มชื้นสีดำ เหงือกควรจะสีดำเข้ม ใบหูสั้นห้อยลงมา ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างกว้างแข็งแรง ช่วยเพิ่มความดุดันและน่าเกรงขาม รวมถึงมีใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่น พวกเค้าจะมีจุดสีน้ำตาล 2 จุด บริเวณหน้าผากซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน สุนัขร็อตไวเลอร์พบได้ทั้งหมด 3 สี ดังต่อไปนี้

1. สีดำมาฮ็อกกานี
2. สีดำสนิม
3. สีแทน

จุดสังเกตเพื่อแยกแยะร็อตไวเลอร์พันธุ์แท้ สามารถทำได้โดยสังเกตลักษณะเหล่านี้
– ร็อตไวเลอร์พันธุ์แท้ต้องมีกล้ามเนื้อแข็งแรง จะไม่มีหุ่นผอมเพรียวหรือผอมแห้ง
– ขนของร็อตไวเลอร์จะมีเพียง 3 สีที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น
– หางของสุนัขพันธุ์นี้จะไม่ยาว ไม่มีขนหนาปกคลุม และไม่ยาวฟูฟ่อง

การดูแล

การออกกำลังกาย
เนื่องจากเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ จำเป็นต้องพาสุนัขออกกำลังกายให้มากในแต่ละวัน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และนิสัยของสุนัขดีขึ้น ควรพาเดินอย่างน้อย 10-20 นาทีต่อวัน และพาสุนัขวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามเจ้าของควรออกมากับสุนัข ป้องกันสุนัขไปแอบหลับ หรือสามารถพาสุนัขเล่นกิจกรรม เช่น การให้สุนัขคาบของมาคืน การพาสุนัขเดินป่า เป็นต้น
หากไม่ได้ออกกำลังกาย หรือใช้พลังงานในแต่ละวัน จะทำให้สุนัขมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น กัดของภายในบ้าน หรือขุดดินในสนามหญ้า และทำให้สุนัขอ้วน รวมถึงการเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

อาหาร

ควรให้อาหารที่มีคุณภาพ ภายในอาหารต้องมีสารอาหารที่สำคัญเป็นหลัก ประกอบด้วย เมล็ดธัญพืช เนื้อ และอาหารกระป๋องสุนัข

ปริมาณอาหารที่แนะนำของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ คือ 4-10 ถ้วยต่อวัน ควรแบ่งเป็น 2 มื้อ หรือมากกว่านี้

– ในลูกสุนัข ควรให้กินอาหารหลายมื้อต่อวัน
– ในสุนัขโต ควรลดปริมาณอาหาร แต่ให้กินหลายมื้อมากกว่าเดิม
– ในสุนัขที่มีอายุมาก ควรให้ปริมาณอาหารมากต่อมือ แต่ลดมื้อที่สุนัขได้กินแทน
ซึ่งปริมาณอาหารสามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกาย หรือการใช้พลังงานของสุนัข

โรคประจำพันธุ์
สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ จัดเป็นสุนัขที่สุขภาพแข็งแรง แต่อาจพบโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่
โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis)
โรคระบบประสาท
ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอทับไขสันหลัง (Caudal cervical spondylomyelopathy)
โรคระบบทางเดินอาหาร
ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric Dilatation Volvulus (GDV))
โรคระบบต่อมไร้ท่อ
ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
การอักเสบของกระดูก มักพบในกระดูกท่อนยาว Long bone (Panosteitis หรือ Growing pain)
โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
ภาวะผิวกระดูกอ่อนตายและแตกออกจากการขาดเลือดในชั้นใต้กระดูกอ่อน (Osteochondritis Dissecans (OCD))
โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Cranial cruciate ligament rupture)
ข้ออักเสบ (Arthritis)
โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)

 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  codecraftersinc.com